กินจุบจิบ เรื่องจุกจิกของแม่ท้อง

“อยากกินปลาหมึกปิ้ง!” ความคิดแวบเข้ามาในสมอง เพียงชั่ววินาทีก่อนที่คุณจะหลับตานอน หันไปดูคนข้างกายนอนหลับสบายกรนคร่อกฟี้ไปนานแล้ว แหงนมองนาฬิกา เพิ่งสี่ทุ่มกว่าเอง อดหงุดหงิดใจไม่ได้ ทำไมสามีถึงหลับได้ง่ายดายเพียงนี้ คุณน่ะสิ ข่มตาหลับเท่าไร ภาพปลาหมึกย่างก็ลอยเข้ามาหลอกหลอน กลิ่นหอมจากการปิ้งด้วยเตาถ่าน น้ำจิ้มรสแซ่บ โอ๊ย...ไม่ไหวแล้ว! คุณลุกขึ้นนั่ง เขย่าตัวสามีให้ตื่น “ตื่นๆ ไปซื้อปลาหมึกปิ้งหน้าปากซอยให้กินหน่อย!”

ว่าที่คุณแม่หลายท่านอาจประสบปัญหาคล้ายๆกันนี้ อยู่ดีๆ ก็อยากกินโน่นกินนี่ไม่เป็นเวลา ทั้งที่ก่อนหน้าก็ไม่เคยมีอาการอย่างนี้มาก่อน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กินมันฝรั่งถุงใหญ่ทุกครั้งที่รู้สึกเบื่อๆ เซ็งๆ กินไอติมเมื่อรู้สึกเศร้า กินผลไม้หมดเป็นกิโลโดยไม่รู้ตัว อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังกินอาหารตามอารมณ์ หรือที่เรียกว่า Emotional Eater

การกินตามอารมณ์ หรือ Emotional Eater คือการกินอาหารที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความหิว แต่เป็นเพราะอารมณ์เบื่อ เครียด เศร้า ฯลฯ ที่ทำให้อยากกินอาหารเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น โดยอาการของ Emotional Eater เช่น

  • รู้สึกอยากอาหารขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
  • รู้สึกอยากอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น ไอศกรีม พิซซ่า ลูกชิ้นทอด ของปิ้งย่าง ฯลฯ
  • ความรู้สึกอยากอาหารนั้น จำเป็นต้องได้รับการตอบสนองทันที
  • แม้แต่จะอิ่มแล้ว ก็ยังกินต่อไปได้เรื่อยๆ
  • การกินตามอารมณ์มักจบลงด้วยความรู้สึกผิด

เชื่อว่าหลายคนมีอาการเช่นนี้ โดยเฉพาะคุณผู้หญิง และไม่เว้นแต่คุณแม่ตั้งครรภ์เท่านั้น การเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกไว้กับอาหารนั้น เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่เกิดขึ้นก่อนที่เราจะพูดได้เสียอีก เพราะอาหารบางชนิดส่งผลถึงระบบประสาทในสมองที่ทำให้เรารู้สึกดีขณะที่กิน อย่างไรก็ตามหลังจากที่เราอิ่มหนำสำราญแล้ว ความสุขจากการได้กินอาหารนั้น อาจกลายเป็นความทุกข์ทรมานของร่างกายได้ เพราะโดยทั่วไปสมองต้องใช้เวลาถึง 20 นาทีกว่าจะส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่าอิ่ม เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงมักกินมากเกินไปโดยที่ไม่รู้ตัว


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก นิตยสารบันทึกคุณเเม่