คนท้อง น้ำหนักขึ้นเท่าไหร่ดี

การมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องปกติอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ และเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะสังเกตเห็นได้ตลอดการตั้งครรภ์ทั้ง 9 เดือน ซึ่งคุณแม่ท้องมือใหม่ส่วนใหญ่มักจะเกิดความสงสัยขึ้นว่าน้ำหนักตัวคุณแม่ควรจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมสำหรับลูกน้อยในครรภ์ และไม่ทิ้งน้ำหนักค้างที่ตัวคุณแม่หลังคลอดมากมาย มาดูกันดีกว่าค่ะว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์นี้ประกอบไปด้วยอะไรกันบ้าง

ตลอด 9 เดือน น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นมาประมาณ 10-15 กิโลกรัม ซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละนิดๆ ค่ะ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้ แบ่งเป็น

  1. ตัวของทารก 3,300 กรัม
  2. รก 680 กรัม
  3. น้ำคร่ำ 900 กรัม
  4. มดลูกที่ขยายขนาดขึ้น 900 กรัม
  5. เต้านมที่ขยายขนาดขึ้น 900 กรัม
  6. ไขมันและโปรตีนของตัวคุณแม่ 4,000 กรัม
  7. เลือด และน้ำในร่างกายของคุณแม่ที่เพิ่มปริมาณขึ้น 1,800 กรัม1

 

เพราะเมื่อมดลูกของคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น ก็ต้องการเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น นอกจากนี้ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยปกป้องคุณแม่ และเจ้าตัวน้อยในครรภ์จากการไหลเวียนของเลือดกลับเข้าหัวใจน้อยลงในท่านอนหงายและท่ายืน รวมทั้งยังช่วยป้องกันการเสียเลือดมากระหว่างการคลอด2 ด้วย ดังนั้นคุณแม่ควรดูแลร่างกายให้มากขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ ด้วยโฟเลทที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง และธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง โฟเลทนั้นพบมากในตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม ธัญพืช แม้อาหารเหล่านี้จะมีปริมาณโฟเลทสูงแต่โฟเลทนั้นจะสูญเสียได้ในการหุ้งต้ม ส่วนธาตุเหล็กจะพบมากในเลือด ตับ เนื้อสัตว์ ไข่แดง ผักใบเขียว และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ และคุณแม่ยังสามารถบำรุงครรภ์แบบง่ายๆ เพียงดื่มนมก็จะได้รับโฟเลทเพียงพอกับความต้องการแล้วค่ะ3 นอกจากนั้นแล้วคุณแม่สามารถตรวจสอบได้ว่าคุณแม่ได้รับโฟเลทเพียงพอหรือไม่ จากการทำแบบทดสอบง่ายๆ ด้วยการคลิกตรงคำว่า “ทดสอบ” ที่รูปภาพด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ  

 

 

ตอนนี้คุณแม่ก็ทราบแล้วว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาตลอดการตั้งครรภ์ทั้ง 9 เดือนนั้นควรจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 กิโลกรัม ซึ่งการจะมีน้ำหนักตัวให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น ต้องมาจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโฟเลทและธาตุเหล็กที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอย่างสม่ำเสมอตลอดการตั้งครรภ์นะคะ

 

References
1 รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์. คู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอดสำหรับคุณแม่ยุคใหม่. หน้า 60.
2 ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สูติศาสตร์. 2551. หน้า 11.
3 ข้อความกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารที่มีในบัญชี Thai RDI