หยุด หยุด ฟังเสียงหัวใจ

เมื่อคุณแม่อายุครรภ์ประมาณ 10 – 11สัปดาห์ หัวใจของทารกก็จะมีโครงสร้างที่สมบูรณ์ และคุณพ่อ คุณแม่สามารถฟังเสียงหัวใจของลูกได้ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Doppler sound wave stethoscope ซึ่งควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือพยาบาลในการใช้เท่านั้น โดยเสียงหัวใจของลูกที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ยินนั้น จะดัง ก๊อบ ก๊อบ ก๊อบ คล้ายเสียงม้าวิ่ง และมีความเร็วในการเต้นประมาณ 160 ครั้งต่อนาที ซึ่งถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับการเต้นของหัวใจของผู้ใหญ่ แต่ทั้งนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับทารกในครรภ์ จนกระทั่งอายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ อัตราการเต้นของหัวใจของทารก จะค่อยๆ ลดลงเหลือประมาณ 120 – 160 ครั้งต่อนาทีจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด อย่างไรก็ตาม บางกรณีคุณพ่อคุณเเม่ก็อาจไม่ได้ยินเสียงหัวใจของลูกได้

 

สาเหตุอาจมาจากหลายประการดังนี้


  • คำนวณวันผิด หากคุณไม่แน่ใจว่าประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาเมื่อไร อายุครรภ์ของคุณก็อาจคลาดเคลื่อนได้ แทนที่จะตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ คุณอาจตั้งครรภ์เพียง 10 สัปดาห์ก็เป็นได้ ซึ่งยิ่งอายุครรภ์น้อย โอกาสที่จะได้ยินเสียงหัวใจของลูกก็ยิ่งยากขึ้น

  • ตำแหน่งของมดลูก กรณีที่คุณแม่มีมดลูกหงาย (tilted uterus) ก็อาจทำให้ได้ยินเสียงหัวใจลูกได้ยากเช่นกัน

  • ตำแหน่งทารกในครรภ์ เพราะทารกในครรภ์มีความยาวเพียง 1.75 - 2.4 นิ้วเท่านั้น ซึ่งยังเล็กอยู่มาก และเครื่องมือจำเป็นต้องวางให้ตรงตำแหน่งกับหัวใจของลูกพอดีเพื่อที่จะได้ยินเสียงหัวใจเต้น

  • ขนาดร่างกายของคุณแม่ หากคุณแม่มีปัญหาน้ำหนักเกิน ก็อาจทำให้เครื่องมือทำการจับเสียงหัวใจของลูกได้ยากขึ้น

  • ภาวะแท้งบุตร การไม่ได้ยินเสียงหัวใจลูก อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของอาการแท้งบุตรได้ แต่ก่อนที่จะมั่นใจ แพทย์จะทำการตรวจด้านอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุด้วย

หัวใจ เป็นอวัยวะสำคัญ ที่พัฒนาขึ้นเป็นอันดับแรกๆ ทำงานตั้งแต่เจ้าตัวน้อยยังอยู่ในท้อง และอยู่คู่กับลูกไปจนตลอดชีวิต เมื่อคุณแม่ดูแลครรภ์ของตัวเองอย่างดี ก็ย่อมส่งผลดีต่อหัวใจของลูกด้วย แต่การดูแลหัวใจของเจ้าตัวน้อยนั้นไม่ได้จบลงหลังจากคุณให้กำเนิดลูกรักแล้วเท่านั้นนะคะ เพราะหนูน้อยยังคงต้องการความรักความเอาใจใส่ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้หัวใจดวงเดียวของเขาแข็งแรงพร้อมที่จะเติบโตสู่โลกใบโหญ่ต่อไปอย่างมีคุณภาพ อย่าลืมนะคะว่าหัวใจดวงน้อยๆ ดวงนั้น เคยเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของคุณมาก่อน....ดูแลหัวใจในโลกใบใหญ่ให้ดีๆ ค่ะ
 

รู้หรือไม่ว่า...ตำแหน่งหัวใจของเจ้าตัวน้อยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นั้น จะอยู่สูงขึ้นมาบริเวณหน้าอกส่วนบน และค่อยๆ เลื่อนลงมาอยู่บริเวณหน้าอกด้านล่างตามลำดับ โดยหัวใจจะมีขนาดใหญ่กินพื้นที่เกินครึ่งของตัวอ่อนที่กำลังพัฒนา ซึ่งเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้วจะใหญ่กว่าขนาดของหัวใจที่พัฒนาสมบูรณ์แล้วในทารกถึง 9 เท่า



ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก นิตยสารบันทึกคุณเเม่
Photo credit : bellabeat.com, cdc.gov